ผู้ค้าแนะจับตาสถานการณ์ COVID-19 ทำบาทอ่อน ดันทองขึ้น ส่วนดัชนีฯ ก.ค.64 ปรับลด ขณะที่ไตรมาสสามสดใส
ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน กรกฎาคม 2564 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือน มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา จากระดับ 71.74 จุด มาอยู่ที่ระดับ 66.67 จุด ลดลง 5.07 จุด หรือคิดเป็น 7.07%
โดยมีปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับลดลงมานั้น เกิดจากวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 มีประสิทธิภาพสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น และการลดนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะสามเดือนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 (ก.ค.–ก.ย.) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสสองของปี 2564 จากระดับ 67.52 จุด มาอยู่ที่ระดับ 67.97 จุด เพิ่มขึ้น 0.45 จุด หรือคิดเป็น 0.66% โดยดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น น่าจะมีสาเหตุมาจาก ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การอ่อนค่าของเงินบาท และภาวะอัตราเงินเฟ้อ
คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน กรกฎาคม 2564จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 306 ตัวอย่าง พบว่า 47% คาดว่าจะซื้อทองคำ ขณะที่ 35% ยังไม่ซื้อทองคำ และอีก 18% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำในเดือนนี้ หรือไม่
สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 13 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน กรกฎาคม 2564 จะเพิ่มขึ้น มีจำนวน 6 ราย และคาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน มิถุนายน 2564 มีจำนวน 5 ราย ส่วนที่คาดว่าจะลดลง มีจำนวน 2 ราย
สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน กรกฎาคม 2564ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,724 – 1,843 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 26,300 – 28,200 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 31.70 – 32.80 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
การลงทุนทองคำในเดือน กรกฎาคม 2564 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า ราคาทองคำมีโอกาสฟื้นตัว โดยหากสามารถเคลื่อนไหวผ่านแนวต้านแรกที่บริเวณ 1,826 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ได้ จะมีแนวต้านถัดไปที่บริเวณ 1,872 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีแรงขายทำกำไรที่สลับออกมา โดยมีแนวรับอยู่ที่บริเวณ 1,733 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ทั้งนี้ นักลงทุนควรวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ เนื่องจากความผันผวนของราคาทองที่อาจเพิ่มสูงขึ้น
Download รายงานศูนย์วิจัยทองคำประจำเดือน กรกฎาคม 2564 ฉบับเต็มได้ที่นี่
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.