ปัจจัยที่กระทบกับความเคลื่อนไหวของราคาทองคำ
ราคาทองคำขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของโลก ซึ่งจริง ๆ แล้วสภาวะเศรษฐกิจไม่ได้เป็นแค่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลให้ราคาทองคำขึ้น – ลง ได้ทั้งวันและทุกวัน และในแต่ละวัน ราคาทองคำจะมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าราคาตลาดโลก ณ เวลานั้นปรับเปลี่ยนไปเท่าไร
โดยทองคำได้ชื่อว่าเป็น Safe Haven หรือสินทรัพย์ปลอดภัยที่ช่วยรักษาหรือเพิ่มมูลค่าในภาวะตลาดมีความผันผวน เศรษฐกิจตกต่ำ โดยราคามักเคลื่อนไหวตรงข้ามกับสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งสินทรัพย์ประเภท Safe Haven ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นDefensive เงินสด และทองคำ
โดยหลายคนอาจสงสัยต่อว่าทำไมทองคำถึงเป็น Safe Haven เป็นคำถามที่ต้องย้อนไปเป็นหลักพันปี สมัยที่มนุษย์ในอดีตใช้ทองคำเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ก่อนจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมาถึงปี ค.ศ. 1900 ที่ทั่วโลกยอมรับการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินกับน้ำหนักทองคำ และมีทองคำเป็นทุนสำรองทั้งหมด เรียกว่าระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard)
ก่อนจะมีการยกเลิกระบบนี้ไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และพัฒนาสู่ยุค Bretton Wood ที่ประเทศต่างๆ มีเงินทุนสำรองเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผูกกับทองคำไว้ที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทองคำ 1 ออนซ์ และพัฒนาเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ที่หลายประเทศทั่วโลกยังมีทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ นี่จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าทองคำยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่หลายประเทศยังให้การยอมรับเสมอมาจนถึงปัจจุบัน โดยปัจจัยที่กระทบกับความเคลื่อนไหวของราคาทองคำมีดังนี้
1.ความต้องการซื้อ-ขาย
มีผลต่อการขึ้นลงของราคาทองคำโลกโดยตรง ซึ่งความต้องการซื้อทองคำมีที่มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเครื่องประดับ กลุ่มการลงทุน และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์ รวมถึงแรงซื้อทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่วนความต้องการขายทองคำมีที่มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มทองคำจากเหมือง แรงขายทองคำจากธนาคารกลาง และปริมาณทองคำที่หมุนเวียนในระบบ นอกจากนี้ ราคาทองคำไทยยังขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท และความต้องการทองคำภายในประเทศด้วย ซึ่งหากใครติดตามข่าวการซื้อขายทองคำของ SPDR Gold Trust กองทุน ETF ประเภท Passive ที่ถือทองคำมากที่สุดในโลก จะทราบกันดีว่ากองทุนดังกล่าวสามารถสะท้อนความต้องการซื้อขายทองคำจากนักลงทุนทั่วโลกได้อีกด้วย นอกเหนือจากการติดตามจากราคาตลาด
2. การเมือง และสงคราม
ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทองคำมีราคาปรับตัวสูงขึ้น เพราะช่วงภาวะสงครามทองคำสามารถแลกเปลี่ยนเป็นสินค้า หรือสิ่งของต่างๆได้ทันที มีความต้องการสูง แตกต่างจากเงินธนบัตรหรือหุ้น ที่มูลค่าลดน้อยลงในช่วงสงคราม อย่างเช่นเหตุการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครนที่มีท่าทียืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และราคาทองคำในเชิงจิตวิทยาแต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามสถานการณ์สงครามอย่างใกล้ชิด เพราะหากสงครามที่ยืดเยื้อได้ยุติลง หรือมีสัญญาณบวกมากขึ้น ราคาทองคำก็ปรับตัวลงได้เช่นกัน
3.เงินเฟ้อ
ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบกับราคาทองคำโดยตรง ปัจจัยข้างต้นไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาน้ำมัน สงคราม ความต้องการซื้อ-ขายทองคำ ล้วนมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวบอกทิศทางราคาทองคำ หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อยู่ในระดับสูง ราคาทองคำมักมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นหรือหากเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลง อยู่ในระดับต่ำ หรือเกิดสภาวะเงินฝืด ราคาทองคำมักปรับตัวลง ปัจจุบันที่เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19 รวมทั้งการเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานซึ่งถือเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าให้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นสัญญาณการถดถอยของเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป ที่ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งยอดค้าปลีก การบริโภคปรับตัวลดลง รวมทั้งเงินยูโรอ่อนค่า ซึ่งทองคำในฐานะสินทรัพย์ Safe Haven ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ รวมทั้งใช้กระจายความเสี่ยงในช่วงตลาดการลงทุนผันผวน จึงมีการปรับตัวสูงขึ้น
4. อัตราดอกเบี้ย
เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบกับราคาทองคำโดยตรง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดี สินทรัพย์เสี่ยงให้ผลตอบแทนสูง เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการลดสภาพคล่องโดยการถอนมาตรการ QE เพื่อควบคุมเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทองคำที่ไม่ได้มีผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยมีความน่าสนใจ และราคาลดลง
อัตราดอกเบี้ยขาลง จะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจแย่ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ สินทรัพย์เสี่ยงถูกเทขาย ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ จะเลือกใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย หรือใช้มาตรการ QE อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สภาพคล่องจำนวนมหาศาล จะส่งผลให้ความน่าสนใจและราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มักสะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มขาขึ้นตั้งแต่นั้นมา โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามท่าทีธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อไป เนื่องจากภาวะสงครามรัสเซีย -ยูเครน อาจส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยตรง
5.ราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมัน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำเป็นอย่างมาก ซึ่งราคาน้ำมันเป็นตัวที่ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ โดยสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นกับราคาทองคำนั้นจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และราคาน้ำมันมีส่วนเกี่ยวข้องแบบเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับราคาทองคำด้วยเช่นกัน หากราคาน้ำมันถูกปรับเพิ่มขึ้น สภาวะเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำก็จะถูกปรับขึ้นสูง ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันถูกปรับตัวลดลง สภาวะเงินเฟ้อก็จะลดลง และราคาทองคำก็จะปรับตัวลงตามกัน
6.ค่าเงินดอลดอลลาร์สหรัฐฯ
เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่มีการใช้กันมาก อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์ยังเป็นสื่อกลางที่ใช้ในการซื้อ-ขาย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์มีความผันผวนกับราคาทองคำการที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง จะส่งผลดีกับราคาทองที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ที่สามารถเก็บมูลค่า และส่งผลให้กระแสเงินของแต่ละประเทศไหลเข้าสู่ทองคำ และทำให้ราคาทองคำมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากค่าเงินดอลลาร์แข็งตัวขึ้น จะส่งผลราคาทองคำปรับตัวลง และนักลงทุนทองคำจะหันมาลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์แทนปัจจัยที่กระทบกับความเคลื่อนไหวของราคาทองคำ เป็นเรื่องที่นักลงทุนทองคำควรต้องศึกษา และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะแม้ทองคำจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้เหมือนกัน หากนักลงทุนได้ศึกษาและเข้าใจปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำมีความเคลื่อนไหวแล้ว ก็จะช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ทองคำและคาดการณ์แนวโน้มราคาทองได้แม่นยำมากขึ้น ทำให้สามารถลงทุนได้อย่างถูกจังหวะ ถูกเวลา และโอกาสนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง :
Comments are closed.