ดอกเบี้ย FED กดดันดัชนีทอง ก.ค. และไตรมาส 3 ของปี 66 ด้านนักลงทุนรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาลด

1,000

ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน กรกฎาคม 2566 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือน มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา จากระดับ 65.71 จุด มาอยู่ที่ระดับ 53.65

ลดลง 12.06 จุด หรือคิดเป็น 18.36% โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับลดลงมานั้น มีสาเหตุมาจาก ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท และปริมาณความต้องการทองคำที่ลดลง

ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะสามเดือนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ปรับลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 จากระดับ 62.70 จุด มาอยู่ที่ระดับ 51.02 จุด ลดลง 11.68 จุด หรือคิดเป็น 18.63% โดยดัชนีฯ ที่ปรับลดลงมานั้น มีสาเหตุมาจาก การแข็งค่าของเงินบาท ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลาย ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และแรงขายเก็งกำไรของกองทุน

คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน กรกฎาคม 2566 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 302 ราย ในจำนวนนี้มี 150 ราย หรือเทียบเป็น 50% ซื้อทองคำ ส่วนจำนวน 110 ราย หรือเทียบเป็น 36% ไม่ซื้อทองคำ และจำนวน 42 ราย หรือเทียบเป็น 14% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำในเดือนนี้หรือไม่

สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และ ผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้มี 7 ราย หรือเทียบเป็น 54% เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน กรกฎาคม 2566 จะลดลง ส่วนจำนวน 4 ราย หรือเทียบเป็น 31% คาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน มิถุนายน และจำนวน 2 ราย หรือเทียบเป็น 15% คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

สำหรับการคาดการณ์กรอบราคาทองคำในเดือน กรกฎาคม 2566 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,867 – 1,969 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 31,550 – 32,550 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 34.26 – 35.78 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

การลงทุนทองคำในเดือน กรกฎาคม 2566 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า แนวโน้มราคาทองอาจแกว่งตัวออกด้านข้างในกรอบ ทั้งนี้ หากราคาทองคำสามารถยืนอยู่เหนือแนวรับได้ คาดว่าราคาทองน่าจะกลับขึ้นไปทดสอบแนวต้านได้อีกครั้ง แต่หากไม่สามารถเคลื่อนไหวไปในทิศทางเชิงบวกได้ อาจจะชะลอการเข้าซื้อเพื่อรอดูการสร้างฐานของราคาทอง นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลต่อราคาทองคำ เช่น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) และสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย – ยูเครน

Download รายงานศูนย์วิจัยทองคำประจำเดือน กรกฎาคม 2566 ฉบับเต็มได้ที่นี่

Comments are closed.