ทองคำ ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลก

3,829

ทองคำ เป็นสินทรัพย์ที่อยู่คู่กับผู้บริโภคคนไทยมาตั้งแต่โบราณ เห็นได้จากการนำเอาทองคำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปทองคำตั้งแต่สมัยเชียงแสน และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏเครื่องราชบรรณาการ เครื่องใช้ และเครื่องประดับต่าง ๆ ที่ทำด้วยทองคำนั้นมีมาช้านาน

ตลาดค้าทองคำในประเทศไทยมีมานานกว่าร้อยปี โดยเฉพาะตลาดค้าทองคำย่านเยาวราช ในกรุงเทพมหานคร  โดยในระยะเริ่มแรกเป็นการนำเอาทองที่ได้จากเหมืองแร่มาผลิตเป็นทองคำรูปพรรณ สังเกตได้ว่าเครื่องประดับทองคำในยุคเก่านั้นมีความบริสุทธิ์อยู่ในระดับ 99.99%

ต่อมา เมื่อการค้าทองคำมีความนิยมเป็นที่แพร่หลาย ทำให้มีการคิดค้นออกแบบลวดลายต่าง ๆ ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ทองคำที่นำมาผลิตเป็นทองรูปพรรณนั้น ต้องมีความแข็งแรงทนทานมากยิ่งขึ้น จึงมีการผสมโลหะชนิดอื่น เช่น เงิน หรือ ทองแดง ลงไปในทองคำบริสุทธิ์ ทำให้มีความแข็งแรงมากขึ้น แต่ความบริสุทธิ์ของเนื้อทองคำจะลดลงอยู่ในระดับ 97-98% ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตทองรูปพรรณของแต่ละร้านค้า และมีการแข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง

ทำให้มาตรฐานทองคำในยุคดังกล่าวมีความแตกต่างกัน เมื่อสภาพปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการร้านค้าทองรายใหญ่ในย่านถนนเยาวราช จึงได้ร่วมมือกันกำหนดมาตรฐานการค้าทองคำร่วมกัน โดยที่ประชุมเห็นควรที่จะจัดรวมกลุ่มเพื่อให้มีความเข้มแข็ง มั่นคงขึ้น จึงได้จัดตั้งเป็นชมรมภายใต้ชื่อ  “ชมรมร้านค้าทอง 11 ห้าง”

และได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมขึ้นภายใต้ชื่อ “สมาคมค้าทองคำ” ในปี พ.ศ. 2526 จนถึงปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยนั้น มีการใช้มาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำที่ 96.5% หรือ 23.16 K  ซึ่งจะได้สีทองที่เป็นสีเหลืองอร่าม มีสีสันสวยงาม และมีความแข็งของเนื้อทองพอเหมาะสำหรับการนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับที่เหมาะกับผู้บริโภคชาวไทย

โดยสมาคมค้าทองคำ ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการสร้างมาตรฐานทองรูปพรรณให้มีเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ของทอง 96.5% ตามหลักเกณฑ์ที่ร่วมกันพัฒนาขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างบรรทัดฐานในการรับซื้อคืนราคาทองคำทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณ ทำให้ตลาดค้าทองคำในประเทศไทยมีความเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

เมื่อการลงทุนในทองคำแท่งเริ่มมีความนิยมเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง ซึ่งเห็นได้จากการที่ราคาทองคำทั้งในตลาดโลก และราคาทองคำประกาศจากสมาคมค้าทองคำ มีการปรับตัวสูงขึ้นตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน

ทำให้เริ่มมีทั้งการเข้าซื้อทองคำแท่งเพื่อลงทุนระยะยาว และการเก็งกำไรในราคาทองคำกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

จากภาพกราฟราคาทอง ทั้งราคาทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) และราคาทองคำในประเทศ (96.5%) ตามประกาศสมาคมค้าทองคำ แสดงให้เห็นว่า ราคาทองคำสามารถให้ผลตอบแทนได้มากถึง 300% ในระยะเวลา 15 ปี

และในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ส่วนต่างราคาทองคำสูงสุด-ต่ำสุด ยังมีส่วนต่างกันในแต่ละปีอยู่ในระดับตั้งแต่ 7-30% ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนการลงทุนในรายปีที่ถือว่าดีกว่าการฝากเงินเพื่อรับดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน หรือการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดทุน

ทำให้นักลงทุนมีการแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนมาลงทุนในทองคำแท่งในพอร์ตการลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ในปี พ.ศ. 2552 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ได้เริ่มเปิดการซื้อขาย Gold Futures (GF) ซึ่งเป็นการจำลองภาพของการซื้อขายทองคำแท่งในประเทศไทย ที่มีหน่วยเป็นเงินบาทต่อหน่วยบาททองคำ ผ่านสัญญาการซื้อขายที่ไม่มีการส่งมอบทองคำจริง ซึ่งสามารถใช้ทำกำไรได้ตามความคาดการณ์ที่มีต่อราคาทองคำได้ทั้งในภาวะราคาทองขาขึ้นและราคาทองขาลง

และในปี พ.ศ. 2561 เริ่มเปิดการซื้อขาย Gold Online Futures (GO) ที่แสดงราคาเสนอซื้อหรือขายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อน้ำหนักทองคำ 1 ทรอยออนซ์ โดยไม่นำอัตราแลกเปลี่ยนมาใช้ในการคำนวณราคา

ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนหรือเก็งกำไรในสินค้าทั้งสองแบบ จาก TFEX เสริมเพิ่มเติมจากการลงทุนในทองคำแท่งแบบมีการส่งมอบสินค้า (Physical Delivery) จากร้านค้าทองหรือบริษัทค้าทองคำแท่ง

ในส่วนของผู้ค้าทอง นอกจากพัฒนาการเรื่องการควบคุมมาตรฐานการผลิต และการควบคุมราคาซื้อขายให้เป็นธรรมมากขึ้นแล้วนั้น ยังมีการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

เช่น ในระยะแรกมีการใช้เว็บเพจเพิ่มช่องทางการซื้อขายทองคำแท่งสำหรับนักลงทุน ทำให้สามารถตัดราคาทองคำแท่งแบบ Realtime กับระบบของทางบริษัทค้าทองคำแท่งได้ตามราคาทองคำโลก และยังสามารถซื้อขายในช่วงเวลาตลาดซื้อขายทองคำทั่วโลกเปิดให้บริการ ถึงแม้จะเป็นช่วงนอกเวลาทำการของร้านค้าทองในประเทศ

แล้วจึงมีการรับส่งทองคำตามช่วงเวลาที่ได้ตกลงกับทางบริษัทค้าทอง ที่ร้านค้าทอง หรือ Counter ของทางบริษัทค้าทองซึ่งเปิดอยู่ตามศูนย์การค้าย่านใจกลางเมืองต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย

โดยการชำระเงินซึ่งก็ทำได้หลายวิธีทั้งการโอนเงิน การตัด ATS กับธนาคารคู่สัญญา นอกจากนี้ยังมี Mobile Application ที่ทางธนาคารเข้ามาร่วมอำนวยความสะดวก ทำให้ไม่จำเป็นต้องพกเงินจำนวนมาก ๆ เข้าไปยังร้านทองเพื่อชำระค่าทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณ

อีกทั้ง มีร้านค้าทองเปิดให้บริการตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหรือขายทองคำได้อย่างสะดวกมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ร้านค้าทองต่าง ๆ ยังใช้ประโยชน์จาก Social Network ต่าง ๆ ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูล หรือ แสดงรูปแบบ ลวดลายของสินค้าต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคที่สนใจได้สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีการจัดส่งสินค้าต่าง ๆ ผ่านทางผู้ให้บริการขนส่งไปยังผู้ซื้อ ซึ่งจัดว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

นอกจากการพัฒนาช่องทางการซื้อขายให้สะดวกสบายมากขึ้นแล้ว ยังมีการพัฒนาสินค้าให้มีน้ำหนักเล็กลง เนื่องจากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ทองคำแท่งที่เคยมีการผลิตขนาดเล็กสุดคือ 5 บาท (76.22 กรัม) เมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 10,000 บาท ต่อบาททองคำ ก็เริ่มมีผู้ผลิตทองคำแท่งขนาด 1-2 บาท ออกมาจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อทองคำตามงบประมาณ

ในภายหลังเมื่อราคาทองปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 20,000 -30,000 บาท ต่อบาททองคำ ก็เริ่มมีทองคำแท่งขนาดเล็กลง เช่น 1-2 สลึง (25-50 สตางค์) หรือ ในปัจจุบัน มีทองคำแท่งขนาดตั้งแต่ 0.3, 0.5 และ 1 กรัมออกมาจำหน่าย และได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคที่นิยมการออมทองคำแท่งเป็นอย่างมาก

ในส่วนของการออมทองคำแท่ง บริษัทค้าทองขนาดใหญ่หลายบริษัทได้มองเห็นการขยายตัวของตลาดการออมทองคำในประเทศไทย จึงได้เริ่มมีการพัฒนาระบบ Mobile Application ที่ใช้เทคโนโลยีการคำนวณและการสื่อสารที่ทันสมัย นำมาประยุกต์ใช้กับความต้องการในการซื้อทองตามงบประมาณของผู้ซื้อ โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับหน่วยน้ำหนักของทองคำ

เช่น ต้องการซื้อทองคำภายในงบ 1,000 บาท ก็สามารถทำได้ โดยระบบซื้อขายของบริษัทค้าทองคำก็จะทำการคำนวณจำนวนเงินดังกล่าว รวมถึงค่าบริการต่างๆ แล้วจึงแสดงออกมาว่าผู้ซื้อนั้นจะได้ทองคำเป็นปริมาณกี่กรัม เพื่อเก็บสะสมไว้ในฐานข้อมูลของผู้ซื้อ และสามารถซื้อเพิ่มเติมได้ตลอด

โดยน้ำหนักของทองคำก็จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนเงินที่ผู้ซื้อได้จ่ายให้กับผู้ค้าทอง เมื่อสะสมน้ำหนักทองคำครบตามน้ำหนักที่ต้องการ ผู้ซื้อสามารถทำการถอนทองคำออกจากระบบได้ ผ่านช่องทางการให้บริการของร้านค้าทองผู้ให้บริการออมทองดังกล่าว

เมื่อความต้องการออมทองของผู้บริโภคมีมากขึ้น ร้านค้าปลีกทองคำหลายแห่งก็เริ่มปรับตัว เริ่มให้บริการออมทองคำหน้าร้าน หรือผ่านทาง Social Media ของร้านเช่น Facebook Page หรือ Line ของทางร้าน โดยใช้การยืนยันผ่านทางข้อความที่โต้ตอบกับลูกค้า สำหรับการเลือกผู้ให้บริการออมทอง ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และควรเลือกผู้ให้บริการที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ เป็นร้านค้าหรือบริษัทค้าทองคำที่มีสถานที่ทำการที่สามารถถอนทองคำที่สะสมไว้ได้จริง และถ้าเป็นผู้ให้บริการที่เป็นสมาชิกสมาคมค้าทองคำด้วยก็จะมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของการลงทุนในทองคำนั้น บริษัทหรือร้านค้าทองก็มีการปรับตัวในเรื่องของการวิเคราะห์ราคาทองคำ ทั้งที่เป็นการวิเคราะห์เชิงพื้นฐานและการวิเคราะห์ทางเทคนิค เพื่อเป็นการบริการข้อมูลให้กับลูกค้าหรือผู้ที่สนใจการลงทุนในทองคำทั่วไป เพราะราคาทองคำในปัจจุบันเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่สำคัญชนิดหนึ่งของโลก ในฐานะการเป็นทุนสำรองเงินตราที่ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อสะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเสถียรภาพทางการเงินของประเทศนั้น ๆ และรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ

จากข้อมูลของสภาทองคำโลกล่าสุดในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2565 ประเทศไทยมีทองคำในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่มากถึง 244.2 ตัน นับเป็นอันดับที่ 23 ของโลก

และทองคำยังจัดว่าเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ป้องกันเงินเฟ้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากทุกครั้งที่มีวิกฤตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงาน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สูงขึ้น ทองคำจะถูกนึกถึงเป็นสินทรัพย์ลำดับต้น ๆ

ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาทองก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานที่เป็นต้นเหตุของสภาวะเงินเฟ้อของโลก แต่ต่อมาเมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็วและรุนแรง ก็ทำให้ทองคำที่จัดเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยหรือปันผล ถูกเทขายออกมา เพื่อย้ายเงินทุนเข้าไปถือเงินสกุลดอลล่าร์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ทำให้ราคาทองคำปรับตัวต่ำลงทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกยังอยู่ในสภาวะเงินเฟ้อสูง แต่ราคาทองคำภายในประเทศกลับมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากเท่ากับราคาทองคำต่างประเทศเพราะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ราคาทองคำในปัจจุบันมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับข้อมูลทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก นอกจากบริษัทและร้านค้าทองจะมีการให้บริการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร บทวิเคราะห์พื้นฐานราคาทองคำ และการวิเคราะห์ทางเทคนิคให้กับนักลงทุนทั่วไปแล้ว

สมาคมค้าทองคำ โดยความร่วมมือกับ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้จัดตั้ง ศูนย์วิจัยทองคำ ขึ้น เพื่อร่วมกันจัดหาข้อมูล วิเคราะห์ และวิจัยเกี่ยวกับทองคำ โดยเฉพาะการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) และ บทสรุปความเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการตัดสินใจให้กับนักลงทุนทองคำทั่วไปในอีกมุมมองหนึ่งด้วยเช่นกัน

ในยุคที่เทคโนโลยีและข่าวสารมีความสำคัญเช่นนี้ ธุรกิจทองคำที่ถือว่าได้ดำเนินการมากว่าร้อยปีในประเทศไทย มีการปรับเปลี่ยนตัวเองทั้งด้านการค้าทองคำ การผลิตสินค้า ช่องทางการซื้อขายทองคำ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทองคำ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยต่างๆ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคในการซื้อขายทองคำได้อย่างทันท่วงที และยังมีความยืดหยุ่นในการชำระเงินผ่านหลากหลายช่องทาง

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ข่าวสารในหลากหลายมิติที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนทองคำให้แก่ผู้บริโภคได้เข้าถึงอย่างง่ายดาย ทองคำในปัจจุบันจึงไม่ใช่เพียงแค่เครื่องประดับ หรือสินค้าฟุ่มเฟือยแบบในอดีต แต่เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเพื่อเป็นการออม หรือเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่สำคัญสินทรัพย์หนึ่งของคนไทยในปัจจุบันอีกด้วย

บทความ : ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.