สัมภาษณ์พิเศษ อ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ “หลัง โจ ไบเดน นั่ง ปธน. สหรัฐฯ มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง” (คลิป)

1,522

โฉมหน้าใหม่พญาอินทรี ภายใต้การนำของ “โจ ไบเดน”

หลังจากที่ นายโจ ไบเดน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาพร้อมทีมงานรัฐมนตรีชุดใหม่ ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายหลายๆ ด้าน จากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำเอาไว้ “สัมภาษณ์พิเศษ” ของวารสารทองคำ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา

หลังจาก “โจ ไบเดน” เข้ามาเป็นผู้นำสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าสนใจบ้าง?

คงต้องแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก เกี่ยวกับงานด้านเศรษฐกิจ โดยเมื่อช่วงก่อนกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “โจ ไบเดน” ได้ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีชื่อว่า“American Rescue Plan Act of 2021” วงอนุมัติเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกัน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19  โดยจะมีทั้งการแจกจ่ายให้กับชาวอเมริกันโดยตรง ให้เงินช่วยเหลือบรรดารัฐและรัฐบาลกลาง จัดสรรเงินทุนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขยายโครงการช่วยเหลือคนตกงานไปจนถึงเดือนกันยายน นอกจากนั้น ยังเตรียมแผนการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคพี้นฐาน การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการใช้พลังงานทางเลือก และแผนงานอื่นๆ ที่จะดำเนินการในระยะเวลา 8 ปี วงเงินกว่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ การอัดฉีดเงินก้อนแรก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบของสหรัฐฯ และตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น มีสภาพคล่องมากขึ้น ทำให้หลายสำนัก อาทิ OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development) ธนาคารกลาง คาดการณ์ว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ควรจะเป็นอีก 1% โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.4-5.5% ขณะที่สหรัฐฯจะขยายตัว 6.5% ใกล้เคียงกับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คาดการณ์ไว้ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ จะโตขึ้นประมาณ 1% จากที่ควรจะเป็นเช่นกัน

แม้ว่าจะเป็นเงินที่อัดฉีดโดยสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่าจะช่วยทั่วโลกได้เลยหรือ?

เงินก้อนนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็ว ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็จะโตกว่าที่คาดการณ์ไว้ และอาจจะสูงกว่าประเทศจีน ซึ่งแต่เดิมประเทศจีนประเมินไว้ว่าปีนี้จะขยายตัวประมาณ 8% แต่ล่าสุดหลังการประชุมผู้บริหารได้ปรับลดลงเหลือเพียง 6% เนื่องจากไม่ต้องการเน้นเรื่องการกระตุ้น เพราะมองว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแล้ว แต่จะหันไปเน้นเรื่องการสร้างเสถียรภาพการเติบโต จึงปรับลดการคาดการณ์การเติบโตลงมา ดังนั้นหากทุกอย่างเป็นไปตามที่ประเมินไว้ การเติบโตของอเมริกาในปีนี้จะสูงกว่าจีน และการฟื้นตัวเร็วมาก จากปีที่แล้วติดลบ 4% มาปีนี้ฟื้นมา 6%

เงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านใดอีกบ้าง?

อีกเรื่องที่ต้องจับตาคือ การขยายตัวของสินทรัพย์การลงทุน ไม่ว่าจะเป็นดัชนีหุ้น สินค้าคอมโมดิตี้ ซึ่งในกลุ่มนี้จะขยายตัวขึ้นมามาก แต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนได้แสดงความกังวลก็คือ เรื่องของเงินเฟ้อ แต่ทาง “เจเน็ต เยลเลน” รมว.คลังสหรัฐฯ ก็มองว่ากลุ่มคนนี้เป็นเพียงคนกลุ่มน้อย แต่ส่วนตัวมองว่าก็ต้องรับฟังไว้ เพราะคนที่เสนอความเห็นนี้ ก็มีบุคคลสำคัญอย่าง นายแลรี่ ซัมเมอร์ ซึ่งเป็นอดีต รมว.คลังสหรัฐฯ โดยเตือนว่าการอัดฉีดเงินปริมาณมหาศาลขนาดนี้ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งแม้ว่าอาจทำให้สินทรัพย์ลงทุนราคาสูงขึ้น แต่ก็อาจจะเกิดเรื่องเงินเฟ้อซึ่งจะกลายเป็นหน้าผาที่สูงชัน หากพังทลายลงมาก็จะทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ได้

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ก็มีสัญญาณว่าเงินเฟ้อได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยีลด์ 10 และ 30 ปี ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาทำสถิติสูงถึง 1.75% แต่เฟดระบุชัดว่ายังไม่น่าห่วงและก่อนหน้านี้เฟดได้ปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับนโยบายเรื่องเงินเฟ้อใหม่ โดยจะยอมรับได้หากเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 2% หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย ซึ่งการขยับของเงินเฟ้อขณะนี้เป็นเพียงชั่วคราวและเกิดขึ้นในบางพื้นที่ แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นกับทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาสูงมาก เกิน 100% ไปแล้วส่วน EU ก็เกิน 100% ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเกิน 300% 

การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลัง “โจ ไบเดน” ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯมีอะไรอีกบ้าง?

หลังจากที่ ไบเดนฯ เข้ามา ได้ทุ่มเทเรื่องของการผลิตวัคซีน ป้องกันไวรัสโควิด-19 และเร่งฉีดวัคซีนให้กับชาวอเมริกัน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้ที่เสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และจุดนี้เองจะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำได้รวดเร็ว เพราะการผ่อนคลายการล็อคดาวน์จะทำได้ในวงกว้างและเศรษฐกิจจะกลับมาขับเคลื่อนได้ ส่งผลให้มีการจ้างงานมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขเรื่องการกระจายวัคซีนที่ยังทำได้ในวงจำกัด ทำให้มีการวิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่เท่ากัน โดยประเทศที่ได้รับวัคซีนและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดี จะทำให้การฟื้นตัวเร็ว เช่น สหรัฐอเมริกาขณะที่ EU จะฟื้นตัวช้ากว่าเพราะมีปัญหาเรื่องการผลิตและส่งมอบวัคซีน อย่างเช่นที่ประเทศฝรั่งเศสก็ยังต้องล็อคดาวน์กรุงปารีส และในหลายๆ พื้นที่

ที่ผ่านมานักวิเคราะห์หลายคนกังวลเรื่องของเงินเฟ้อเนื่องจากมีการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมาก แต่เฟดกลับไม่กังวล

ถ้าดูนโยบายของเฟด แม้ว่าที่ผ่านมาได้ประกาศออกมาหลายครั้งว่าจะเลิกนโยบายดอกเบื้ยต่ำในปี 2024 แต่ในการประชุมครั้งล่าสุด ก็เริ่มมีเสียงจากคณะกรรมการของเฟดบางคนที่มองว่าอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่านั้น เพราะเริ่มหวั่นเกรงเรื่องเงินเฟ้อ แต่ประธานเฟดยังมองว่าเฟดมีเครื่องมือในการดูแลเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจว่าในตลาดลงทุน สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของจิตวิทยาและความเชื่อมั่น ดังนั้น ทันทีที่มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งออกมาแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ 

นางเยลเลนฯ ก็จะมองว่าคนเหล่านี้เป็นเพียงคนกลุ่มน้อย แต่จะต้องมาดูว่านักลงทุนจะเชื่อฝั่งไหน แต่จากที่เห็นมีนักลงทุนได้เทขายพันธบัตร ทำให้ยีลด์เริ่มสูงขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงอะไรหลายๆ อย่าง และเริ่มเห็นแรงกดดันต่อดอกเบี้ย อาจจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

นอกจากนั้น นางเยลเลนฯ ยังคิดเหมือนที่ไอเอ็มเอฟคิดโดยมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังพอไหว อัตราเงินเฟ้อยัง
ไม่ดีดมากและชาวอเมริกันยังตกงานอยู่กว่า 9 ล้านคน ดังนั้นการที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินปริมาณมหาศาล ก็ยังดีกว่าอัดฉีดน้อย เพราะสมัยที่เกิดวิกฤติซับไพรม์ ก็มีการมองว่ารัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยเกินไป  ที่สำคัญมองว่าเมื่ออัตราการว่างงานยังสูงดังนั้น เรื่องเงินเฟ้อที่จะออกมาจากค่าแรงจึงยังไม่มี ทำให้ทั้งสองฝ่ายมองต่างกัน และตอนนี้ที่น่าจับตาเป็นพิเศษก็คือเรื่องของจิตวิทยาบางอย่างของนักลงทุน เพราะหากไม่มั่นใจแล้วอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้

การเคลื่อนไหวของราคาทองคำกับยีลด์ ในระยะหลังมีนัยสำคัญอย่างไร?

ทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน หลายคนอาจจะมองว่าเมื่อยีลด์สูงขึ้น ราคาทองลดเพราะคนอาจจะไม่ซื้อทอง แต่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจอยู่ เพราะสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน ตอนนี้ตลาดหุ้นก็ถูกมองออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งมองว่าราคาสูงเกินไปแล้ว แต่อีกฝ่ายมองว่ายังไปได้อยู่

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องความไม่แน่นอนจากบอนด์ยีลด์ โดยนักลงทุนฝั่งหนึ่งมองว่าอัตราผลตอบแทนสูงไปแล้ว แต่อีกกลุ่มมองว่าการปรับตัวขึ้นมาระดับนี้ยังไม่เป็นไร ทำให้เห็นว่าเกิดความไม่แน่นอนขึ้น จึงทำให้ทองคำยังน่าสนใจ แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอาจจะทำให้เม็ดเงินไหลไปลงทุนในส่วนอื่น แต่ทองคำจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความโดดเด่นขึ้นมา
เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทั้งในเรื่องของสถานการณ์และความคิด ซึ่งในระยะยาวยังมองว่าทองคำยังเป็นขาขึ้น เพราะความไม่แน่นอนในโลกนี้ยังมีสูงมาก

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ราคาทองคำอาจจะลดลงไปบ้าง ซึ่งก็เป็นวัฎจักรของสินทรัพย์การลงทุน จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ 1-2 ปี ราคาทองคำก็ได้ปรับเพิ่มขึ้นมามาก เนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องต่างๆ และนี่ก็คือจุดเด่นของทองคำ ที่เป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง

มองสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีนอย่างไร?

ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐฯ จะเป็นใน 3 รูปแบบ 1. Competitive when it should be แข่งกันเท่าที่ควรจะเป็น
2. Corporation when it can be ร่วมมือกันได้ในหลายเรื่องและ 3. Adversarial when it must be เป็นศัตรูกันเท่าที่จำเป็น 

หากจะสรุปโดยย่อความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐฯ จะเป็นลักษณะ 3C คือ 1. Confrontation คือการเผชิญหน้ากันอย่างกรณีของทะเลจีนใต้ หรือสหรัฐฯพยายามเล่นงานจีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่จะไม่รบกัน 2. Competitive แข่งกันเรื่องแย่งตลาดการค้า การแข่งขันเรื่องเทคโนโลยี และ 3. Corporative การร่วมมือกันในบางเรื่อง อย่างเช่นการลดโลกร้อน การป้องกันและแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 หรือป้องปรามการขยายตัวของอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่อง ทั้งสองฝ่ายก็จะมองในต่างมิติกัน โดยบางเรื่องก็จะมีการช่วงชิงความได้เปรียบ แต่บางเรื่องก็ยังสามารถร่วมมือกันได้ ดังนั้น สถานภาพของทั้งสองประเทศต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป และต้องดูสถานการณ์โดยรอบประกอบด้วย โดยจะไม่เป็นศัตรูกันทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้เป็นมิตรกันในทุกเรื่อง

รับชมคลิป

ขอขอบคุณ อ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 64

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.