ศูนย์วิจัยทองคำเผยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคทองคำในประเทศไทย

4,475

ดร. อัฐวุฒิ ปภังกร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยผลสำรวจ “โครงการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคทองคำในประเทศไทย” โดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิจัยทองคำ และคณาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจและสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับตลาดทองคำภายในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ภาพบรรยากาศการค้าขายทองคำ
ภาพบรรยากาศการค้าขายทองคำ

จากการสำรวจความรู้พื้นฐานและพฤติกรรมการซื้อหรือขายทองคำของประชาชนไทย โดยการสุ่มตัวอย่างให้กระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 926 ราย เก็บข้อมูลเมื่อช่วงปลายปี 2560 ผลการสำรวจด้วยแบบสอบถาม พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 50 รู้ว่าทองคำ 1 บาท หนักประมาณ 15 กรัม โดยคนส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) รู้ว่าทองคำ 1 บาท เท่ากับ 4 สลึง

ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68 เคยซื้อทองรูปพรรณ โดยซื้อเพื่อเป็นเครื่องประดับ สร้อยคอและแหวนเป็นที่นิยมมากที่สุด และประมาณร้อยละ 75 เลือกซื้อทอง 96.5% โดยให้เหตุผลว่ามีลวดลายให้เลือกหลากหลาย มีร้านทองให้ซื้อขายได้สะดวก และมีราคา รับซื้อ-ขาย ตามที่สมาคมค้าทองคำประกาศ

ประชาชนร้อยละ 45 เคยมีประสบการณ์การขายทองรูปพรรณ โดยให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินยามฉุกเฉิน ทั้งนี้พบว่าความถี่ในการขายทองคำไม่บ่อยนัก กล่าวคือ มากกว่า 6 เดือนต่อครั้ง นั่นคือคนส่วนใหญ่ซื้อเพื่อการเก็บออม ทั้งทองรูปพรรณและทองคำแท่งน้ำหนัก 1 บาท เป็นที่นิยมของประชาชน มีเพียงร้อยละ 20 ของกลุ่มตัวอย่างที่เคยซื้อทองคำแท่ง และเป็นการซื้อเพื่อการลงทุนเป็นหลัก โดยคาดหวังกำไรตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปต่อทองคำหนึ่งบาทที่ซื้อ ประมาณร้อยละ 50 รู้จักเวบไซต์สมาคมค้าทองคำ และร้อยละ 48 ตรวจสอบราคาทองคำจากเวบไซต์นี้

มีประชาชนจำนวนไม่มากนักที่รู้จักและเคยใช้บริการช่องทางทองคำออนไลน์ หรือทองแท่งออนไลน์ โดยกลุ่มที่รู้จักและเคยใช้บริการได้แก่กลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีรายได้สูง และประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยเห็นว่าช่องทางดังกล่าวมีความสะดวก รวดเร็ว ในการชำระเงินและสินค้า

ติดตามผลงานฉบับเต็ม

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.